ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ เยาวราช กับงานดีไซน์แลกเปลี่ยนวัสดุ Bangkok Design Week

ย่ำอดีตเยาวราชในย่านเก่า ‘ชุมชนเลื่อนฤทธิ์’ ชมงานดีไซน์จากการแลกเปลี่ยนวัสดุที่เคยถนัดของนักออกแบบผลิตภัณฑ์ 39 สตูดิโอ สมาชิก D&O ในงาน Bangkok Design Week 2023
ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ เป็นหนึ่งในพื้นที่จัดแสดงงานของ เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2566 หรือ Bangkok Design Week 2023 นิทรรศการผลงานออกแบบที่จัดแสดงในพื้นที่นี้มีชื่อว่า You Do Me, I Do You เป็นผลงานการออกแบบของสมาชิก สมาคมผู้ผลิตผลิตภัณฑ์แนวดีไซน์ หรือ D&O (The Design and Objects Association)
ผลงานการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีความแปลกใหม่ร่วมสมัย ไปจนถึงล้ำจินตนาการน่าชม พอมาจัดวางในสถานที่ประวัติศาสตร์ซึ่งมีสถาปัตยกรรมย้อนยุคอย่าง ‘ชุมชนเลื่อนฤทธิ์’ ยิ่งเพิ่มเสน่ห์และความน่าสนใจ
ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ ตั้งอยู่บริเวณสี่แยกวัดตึก ถนนเยาวราช มีเนื้อที่ประมาณ 7 ไร่เศษ เดิมที่ดินแปลงนี้เป็นของคุณหญิงเลื่อน ภริยาหลวงฤทธิ์ นายเวร ชาวบ้านสมัยนั้นจึงเรียกย่านนี้ว่า ‘เลื่อนฤทธิ์’
ต่อมาคุณหญิงเลื่อนได้ขายที่ดินให้ ‘พระคลังข้างที่’ ซึ่งได้พัฒนาที่ดินเป็นตึกแถวพาณิชย์แล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 5 จัดเป็นอาคารพาณิชย์ยุคแรกๆ ของไทยเช่นกัน
ตัวอาคารเป็นตึกแถวก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น สร้างแบบโคลอนเนด (Colonnade) คือมีทางเดินด้านหน้าติดต่อกันไปทุกตึกโดยตลอด ประตูชั้นล่างเป็นแบบบานเฟี้ยม เหนือประตูมีช่องลม กรอบหน้าต่างชั้นบนเป็นบานไม้มีกันสาด ปัจจุบันได้รับการฟื้นฟูให้มีสภาพดังเดิม
ส่วนแนวคิดในการออกแบบผลิตภัณฑ์ครั้งนี้มีคอนเซปต์ตามชื่อนิทรรศการ You Do Me, I Do You คือการแลกเปลี่ยนวัสดุระหว่างสตูดิโอของสมาชิก D&O เช่น สตูดิโอที่เคยถนัดงานเหล็กก็อาจจะนำ ‘หวาย’ วัสดุหลักของสตูดิโอเพื่อนสมาชิกมาออกแบบ เหมือนการก้าวออกจาก comfort zone ของตนเองมาท้าทายความสามารถในการออกแบบ
สมาคม D&O เชื่อว่า แนวคิดนี้คือการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ ต้องมองข้ามบรรทัดฐานของตนเองและพยายามสร้างโอกาส วิธีการออกแบบ การแก้ปัญหาใหม่ๆ ผ่าน ‘ดีไซน์’
“การทำงานออกแบบในลักษณะแลกเปลี่ยนวัสดุกัน ก็เพื่อหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น เราหวังว่าจะเป็นส่วนเล็กๆ ที่สร้างแรงขับเคลื่อนต่อการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมและแนวปฏิบัติของงานออกแบบไทยในอนาคต” ศรุตา เกียรติภาคภูมิ ดีไซเนอร์และเจ้าของแบรนด์ PiN สมาชิกสมาคม D&O ให้สัมภาษณ์
นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอแนวคิดหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของวัสดุ ผ่านการทำงานร่วมกับ เฌอร่า (Shera) วัสดุทดแทนไม้ที่ปกติมีประโยชน์ใช้สอยเชิงสถาปัตยกรรมในการทำพื้น ผนัง และหลังคา
แต่ครั้งนี้สมาชิกของ D&O ได้ลองนำไม้เฌอร่ามาออกแบบเป็นผลิตภัณฑ์ อาทิ กรกต อารมย์ดี เจ้าของแบรนด์ Korakot นักออกแบบซึ่งสร้างชื่อเสียงจากการใช้ความรู้ความสามารถด้านงานหัตถกรรมภูมิปัญญาไทยการผูกอวนของชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดเพชรบุรีบ้านเกิดมาใช้กับงานไม้ไผ่ ได้ลองใช้ไม้เฌอร่ามาเป็นวัสดุในการสร้างพาวิลเลียนสานขนาดใหญ่ที่มีความอ่อนช้อยจากเส้นโค้ง เป็นแลนด์มาร์คในพื้นที่จัดแสดงงาน
ขณะที่แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ผสานงานถักชื่อดัง โยธกา (Yothaka) ได้ทดลองใช้เครื่องซีเอ็นซีฉลุเพื่อลดน้ำหนักไม้เฌอร่า และทำให้เกิดลวดลายที่สวยงามด้วยงานเชือกถักผสานลงไป กลายเป็นม้านั่งจากไม้ฝาเฌอร่าดีไซน์เก๋ที่ไม่เคยเห็น
แบรนด์ PDM (พีดีเอ็ม) เปลี่ยนการรับรู้ของไม้เฌอร่าด้วยการพิมพ์ลายหินอ่อนลงไปผิวไม้เฌอร่า แล้วออกแบบเป็นโต๊ะสไตล์จีน กลายเป็นโต๊ะที่เหมือนท็อปคือหินอ่อน วางคู่กับเก้าอี้แบบสตูออกแบบโดย โยธกา ใช้ซีเอ็นซีสกัดดับเบิ้ลเฌอร่าบอร์ดผสมกับงานเหล็ก
ข่าวแนะนำ : นักออกแบบอัญมณีอาเซียน ประชันไอเดียสร้างสรรค์